DSC_1431

ยลเสน่ห์วันวานที่ ‘วังบางขุนพรหม’ 

ยลเสน่ห์วันวานที่ ‘วังบางขุนพรหม’

ชวนปักหมุดเที่ยวกรุงแบบย้อนวันวานด้วยการไปชมวังเก่า ซึ่งเปรียบเสมือนบทบันทึกส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานที่ดินและสร้างวังขึ้นหลายแห่งสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “วังบางขุนพรหม” วังชั้นเจ้าฟ้าที่โอ่อ่าสง่างามที่สุดแห่งหนึ่งของไทย

120 ปี วังบางขุนพรหม

วังบางขุนพรหมสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2444-2449 มีเนื้อที่ 33 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้า บรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ทูลกระหม่อมบริพัตร) พระโอรสลำดับที่ 36 และสมเด็จ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พระมารดา ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทูลกระหม่อม บริพัตรต้องย้ายออกจากวังบางขุนพรหมไปประทับตำหนักประเสบัน ณ เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย และอยู่ที่นั่นจนสิ้น พระชนม์ วังบางขุนพรหมถูกใช้เป็นที่ตั้งของหลายหน่วยงาน เช่น กรมยุวชนทหาร สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 กระทั่งในปี พ.ศ. 2488 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เช่าวังแห่งนี้เป็นที่ทำการธนาคารและเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ ปัจจุบันเหลือเพียง 2 ตำหนักที่เราได้ชมกัน ได้แก่ ตำหนักใหญ่หรือตำหนักทูลกระหม่อม ตำหนักสมเด็จ และศาลาแตร

ตำหนักใหญ่

วังบางขุนพรหมเปิดให้เข้าชมเฉพาะวันหยุดและมีเจ้าหน้าที่นำชมคอยให้ข้อมูลต่างๆ เริ่มกันที่ตำหนักใหญ่ของทูล       กระหม่อมบริพัตร เริ่มแรกออกแบบโดยสถาปนิกชาวเยอรมัน นายคาร์ล ซันเดรสกี แต่ไม่แล้วเสร็จ ต่อมาจึงได้นายมารีโอ ตามาญโญ สถาปนิกชาวอิตาลีผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคมมาออกแบบจนแล้วเสร็จ เป็นตึก 2 ชั้น ที่ปลายปีกด้านหนึ่งมีหอกลม 3 ชั้น เด่นด้วยสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะเรเนซองส์กับศิลปะยุคบาโรกและโรโกโก ความงามของตึกอยู่ที่ลักษณะเสาชนิดต่างๆ มีทั้งเสากลม เสาเหลี่ยม เสาแบน เสาบิดเกลียว หัวเสาประดับลวดลายปูนปั้น มีหน้าต่างรูปไข่ล้อมด้วยลายปูนปั้นรูปดอกคัทลียา และหน้าต่างรูปครึ่งวงกลมแต่งลายปูนปั้นรูปเครือไม้ และผลไม้ มีบันไดหินอ่อนที่โถงกลาง เป็นแบบ Ceremonial Stair ดูหรูหราอลังการเช่นเดียวกับบันไดโรงละคร Opera Garnier ในฝรั่งเศส

ห้องต่างสีต่างการใช้งาน

ภายในตำหนักใหญ่ที่ชั้น 2 แบ่งเป็นห้องต่างๆ เช่น ห้องสีชมพูเป็นห้องสวยที่สุดของวัง ในอดีตใช้เป็นท้องพระโรงหลัก ต้อนรับแขกสำคัญ ใช้ในพิธีการต่างๆ ปัจจุบันจัดแสดงพระบรมรูปเขียนสีน้ำมัน รัชกาลที่ 5 และทูลกระหม่อมบริพัตรเป็นภาพประธาน ห้องสีน้ำเงินเดิมทีเป็นห้องรับรองแขกของหม่อมเจ้าประสงค์สม ชายาของทูลกระหม่อมบริพัตร ปัจจุบันได้อัญเชิญพระรูปหล่อของทูลกระหม่อมบริพัตร พร้อมกับพระบรมฉายาลักษณ์ในรัชกาลที่ 8 ซึ่งเคยเสด็จพระราชดำเนินมาวังบางขุนพรหมมาจัดแสดง ห้องวิวัฒนไชยานุสรณ์เดิมเคยเป็นห้องบรรทมของชายา ต่อมาใช้เป็นห้องทำงานของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ผู้ว่าฯ คนแรกจนถึงผู้ว่าฯ คนที่ 10 ส่วนห้องบริพัตรปัจจุบันจัดแสดงพระประวัติและสิ่งของที่เกี่ยวกับทูลกระหม่อมบริพัตร

ตำหนักสมเด็จ

สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454-2456 เพื่อเป็นที่ประทับของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระมารดา ออกแบบโดยนายคาร์ล เดอริง สถาปนิกชาวเยอรมันผู้ออกแบบพระราชวังบ้านปืนที่จังหวัดเพชรบุรีและวังวรดิศที่ถนนหลานหลวง เป็นตึกสองชั้นสไตล์อาร์ตนูโวและอาร์ตเดโค หลังคาสูงทรงจั่วหัวตัดและมีสะพานเชื่อมกับตึกใหญ่ ที่ชั้นสองมีภาพวาดปูนเปียกฝีมือของคาร์โล ริโกลิ ศิลปินชาวอิตาเลียนผู้วาดรูปจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งอนันตสมาคม ตำหนักวังบางขุนพรหมสมัยนั้นมีชื่อเสียงโดดเด่นหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาและดนตรี เช่น บริเวณโถงกลางชั้นล่างของตำหนักสมเด็จเคยเป็นสถานที่สอนภาษาและวิชาการบ้านการเรือนของลูกท่านหลานเธอ ในรั้ววังเรียกกันว่า “บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้” นอกจากนี้ที่ด้านหน้าของทั้งสองตำหนักยังมีศาลาแตรหรือกระโจมแตร ภายใต้หลังคาทรงโดมสองชั้นที่ผนังเป็นช่องเปิดรับลม เมื่อยืนอยู่กลางศาลาจะได้ยินเสียงสะท้อนชัดเจน จึงใช้เป็นที่ซ้อมดนตรี เมื่อมีงานเลี้ยงต้อนรับแขกต่างประเทศและเจ้านายในราชวงศ์จักรี ก็จะใช้เป็นที่ตั้งวงดนตรีแตรวงของ ทหารเรือและทหารบก เนื่องจากทูลกระหม่อมบริพัตรทรงโปรดการดนตรี ได้นิพนธ์เพลงไว้มากมาย จึงได้รับการขนาน พระนามว่า “พระบิดาแห่งเพลงไทยเดิม”

วังบางขุนพรหม: เลขที่ 273 พระนคร กรุงเทพฯ โทร. 0-2356-7766 กด 2 เปิดให้เข้าชมวันเสาร์-อาทิตย์ (ยกเว้นวันหยุดธนาคารแห่งประเทศไทย) วันละ 3 รอบ คือ 11.00 น. 13.30 น. และ 15.00 น. จองเข้าชมล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน (ไม่รับ Walk In) สำรองเข้าเยี่ยมชมที่ https://services.botlc.or.th/…/Regi…/BangKhunphromPalace

การเดินทาง: ผู้ใช้ทางพิเศษศรีรัชมุ่งหน้าทางออกด่านยมราช เข้าสู่ถนนพิษณุโลกแล้วตรงไปจนสุดที่แยกถนนสามเสน เลี้ยวซ้ายไปตามถนนจนถึงแยกบางขุนพรหม เลี้ยวขวาไปใต้สะพานพระรามแปด แล้วจอดรถที่ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย อยู่ตรงข้ามกับวังบางขุนพรหม

Contact Us
Contact Us