รู้หรือไม่…ไข้เลือดออกน่ากลัวกว่าที่คิด
โรคไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกีมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์คือ DENV-1, 2, 3 และ 4 มียุงลายเป็นพาหะนำโรค สถิติผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 มีผู้ป่วย 18,173 ราย มากกว่าปีที่แล้ว 4.2 เท่า ดังนั้น เรามาอัปเดตข้อมูลเพื่อให้รู้เท่าทันและป้องกันภัยโรคนี้กัน
- ไข้เลือดออกเป็นโรคที่ระบาดตลอดปี แต่ช่วงหน้าฝนคือ เดือนมิถุนายน-กันยายน จะมียุงลายชุกชุม ถือเป็นช่วง 4 เดือนอันตรายที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูง เดิมทีเข้าใจกันว่าไข้เลือดออกมักเป็นในเด็ก แต่ระยะหลังพบการป่วยและเสียชีวิตมากที่สุดในผู้ใหญ่
- ไข้เลือดออกมีหลายสายพันธุ์จึงสามารถเป็นซ้ำได้อีก โดยเฉพาะไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ 2 มีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่น การติดเชื้อไข้เลือดออกครั้งแรกมักมีอาการไม่รุนแรงหรือบางคนไม่มีอาการแสดง ส่วนใหญ่เป็นไข้สูง มีผื่นแดง และใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ก็หาย แต่การติดเชื้อครั้งที่สองจะมีอาการรุนแรงกว่าจนอาจเกิดการช็อกและเสียชีวิตได้
- ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสเดงกีและยารักษาโรคโดยเฉพาะ มีแต่วัคซีนไข้เลือดออกซึ่งฉีดให้กลุ่มอายุ 9-45 ปี ที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้ว ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ห่างกันเข็มละ 6 เดือน จะสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกทุกสายพันธุ์ได้ 65% ลดการนอนโรงพยาบาลได้ 8% และป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกีได้ 92.9%
- หากไม่แน่ใจว่าเคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนหรือไม่ สามารถเข้ารับการตรวจเลือดด้วยชุดตรวจการเคยติดเชื้อในอดีต (Rapid Diagnostic Tests) ใช้เวลา 30-40 นาที เพื่อคัดกรองให้มั่นใจว่าควรได้รับการฉีดหรือไม่ หากไม่เคยติดเชื้อมาก่อนแล้วถูกยุงลายที่มีเชื้อเดงกีกัดภายหลังการฉีด อาจมีความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกอย่างรุนแรง
- กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มช่องทางเข้าถึงข้อมูลโรคไข้เลือดออก อาทิ แคมเปญสร้างความตระหนักรู้ผ่าน “อิงมา” หรือ Dengue Virtual Human และเว็บไซต์knowdengueth.com