เกาะสมุย เกาะสวรรค์กลางทะเลอ่าวไทย สถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตติดอันดับแหล่งท่องเที่ยวของโลก แต่การเดินทางไปเกาะสมุยยังมีข้อจำกัด เพราะมีแค่ทางเครื่องบินและเรือเฟอร์รี่เท่านั้น สำหรับเครื่องบินที่แม้จะมีเที่ยวบินตรงแต่ราคาค่อนข้างสูง จึงอาจไม่สะดวกสำหรับทุกคน นักท่องเที่ยวที่งบน้อยอาจมาลงสนามบินสุราษฎร์ธานี แล้วนั่งรถไปลงเรือเฟอร์รี่ที่ท่าเรือดอนสักเพื่อไปเกาะสมุย ซึ่งการเดินทางด้วยเรือเฟอร์รี่ต้องใช้เวลา 1.5-2 ชั่วโมงเลยทีเดียว และในกรณีฉุกเฉินต้องเดินทางไปยังเกาะหรือเดินทางออกจากเกาะจะไม่สามารถเดินทางได้ทันทีเพราะยังไม่มีทางถนนที่เชื่อมตรงจากฝั่งถึงเกาะสมุย
โครงการสะพานเชื่อมเกาะสมุยจึงเกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก ปลอดภัย ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังเกาะสมุย ทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว การขนส่ง และเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นไปตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และ กทพ. ได้บูรณาการการดำเนินงานร่วมกันเพื่อให้การพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โครงการทางหลวงชนบท และโครงการทางพิเศษในอนาคตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมต่อประเทศ ในการณ์นี้ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อบูรณาการการพัฒนานวัตกรรมและโครงข่ายทางถนนร่วมกันระหว่างหน่วยงานทั้งสามเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 โดยขอบเขตความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงฯ ได้ระบุไว้ว่า ข้อที่ 1.1 4) โครงการสะพานเชื่อมเกาะสมุยของ ทช. ทั้งสองฝ่ายตกลงให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการที่ ต.ควนทอง อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช และสิ้นสุดโครงการที่ ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ระยะทางโครงการประมาณ 18 กิโลเมตร
สำหรับประเทศไทยอาจจะไม่ค่อยเห็นการสร้างสะพานข้ามทะเลเชื่อมไปยังเกาะมากนัก ดังนั้น ในแผนการ ดำเนินงานเบื้องต้นจะต้องมีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ช่วงปี พ.ศ. 2566–2567 และเสนอโครงการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในช่วงปี พ.ศ. 2567–2568 แล้วจึงมีการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน พร้อมทั้งเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติภายในปี พ.ศ. 2570 หลังจากนั้นจะเริ่มกระบวนการก่อสร้างอีก 3 ปี ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2570–ต้นปี พ.ศ. 2573 และเปิดให้บริการประมาณกลางปี พ.ศ. 2573
โดยรูปแบบการก่อสร้างเป็นสะพานตลอดระยะทางของโครงการทั้งหมด 18 กิโลเมตร มีขนาด 2 ช่องจราจร ขนาดช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2 เมตร และในกรณีที่มีรถเสียบนสะพาน ทุกๆ 2 กิโลเมตร จะมีที่จอดรถฉุกเฉินอยู่กลางสะพาน ซึ่งกว้าง 3.5 เมตร และทางเท้าด้านข้างกว้าง 2.5 เมตร ซึ่งในการออกแบบสะพานต้องพิจารณาถึงผลกระทบจากแรงลมและกระแสการไหลของน้ำในพื้นที่ร่วมด้วย
ปัจจุบัน กทพ. ได้เริ่มเดินหน้าโครงการแล้ว โดยในช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ กทพ. ได้รับเกียรติจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตรวจราชการพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับ กทพ. ในกิจกรรมแนะนำโครงการสะพานเชื่อมเกาะสมุย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี กับ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อให้หน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ได้ทราบถึงที่มาและความสำคัญของโครงการ พร้อมทั้งนำเสนอสาระสำคัญในภาพรวมและแผนงานโครงการจาก กทพ. ตลอดจนประโยชน์ของโครงการฯ ต่อภาพรวมในด้านการคมนาคมและการท่องเที่ยวในภูมิภาคภาคใต้ รวมถึงในประเทศด้วย
แน่นอนว่าโครงการสะพานเชื่อมเกาะสมุยจะสร้างประโยชน์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เพราะเพิ่มศักยภาพในการเดินทางไปเกาะสมุยให้มีความสะดวก รวดเร็ว สามารถข้ามฝั่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเกาะสมุยให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในเกาะสมุย ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียงได้สะดวก จากที่ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว กทพ. จึงผลักดันให้โครงการสะพานเชื่อมเกาะสมุยสามารถเปิดใช้งานได้ตามแผนที่กำหนดไว้ภายในปี พ.ศ. 2573
จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเส้นทางทำให้เกิดความสะดวก ประหยัดเวลา ทั้งยังเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้เป็นอย่างดี