Master5

โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1

ความเป็นมา เหตุผล และความจำเป็นของโครงการ

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการศึกษาแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมและเป็นไปได้ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนโครงข่าย
ทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบ รวมถึงการดำเนินโครงการก่อสร้างทางพิเศษชั้นที่ 2 (Double Deck) หรือการดำเนินโครงการก่อสร้างทางพิเศษในเส้นทางอื่นๆ เพิ่มเติม

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จึงได้ดำเนินการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร
บนโครงข่ายทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบ โดยสามารถจำแนกปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษเป็น 5 ลักษณะ ได้แก่ ปัญหาด้านความจุของทางพิเศษไม่เพียงพอ (Over Section Capacity) ปัญหาจุดตัดกระแสจราจรบริเวณทางร่วมและทางแยก (Weaving & Merging) ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณทางลงทางพิเศษ (Off-Ramp Congestion) ปัญหาการไหลเวียนจราจรบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง (Over Toll Plaza Capacity) และปัญหาจุดคอขวดทางกายภาพบนทางพิเศษ (Bottleneck) ซึ่งสามารถระบุพื้นที่หลักที่เกิดปัญหาการจราจรบนทางพิเศษ แบ่งตามพื้นที่ (Corridor) ได้เป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ 1 (Corridor 1 : C1) : ทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 พื้นที่ 2 (Corridor 2 : C2) : ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงมักกะสัน-ท่าเรือ-บางนา และพื้นที่ 3 (Corridor 3 : C3) : ทางพิเศษฉลองรัช พร้อมแนวทางในการแก้ไขปัญหา และเสนอโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร วิเคราะห์ความเหมาะสมเบื้องต้น รวมถึงจัดลำดับความสำคัญและจัดทำแผนเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบ โดยแบ่งกลุ่มการจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาการจราจรเป็น 2 กลุ่ม คือ แผนการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในปัจจุบัน และแผนการโครงการทางพิเศษเพิ่มเติม โดยแบ่งแผนงานเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2569) และระยะที่ 2 (พ.ศ. 2570 เป็นต้นไป)

กทพ. ได้นำรายงานผลการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่ง คจร. ได้มีมติเห็นชอบรายงานผลการศึกษาฯ ดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ครม. ได้มีมติรับทราบผลการศึกษาฯ ตามมติ คจร.

ต่อมา กทพ. จึงว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 จำนวน 16 โครงการ ประกอบด้วยโครงการย่อยๆ จำนวน 15 โครงการ มีลักษณะเป็นโครงการขยายผิวจราจรบนทางพิเศษ โครงการทางเชื่อมทางพิเศษ และโครงการทางขึ้น-ลงเพิ่มเติม โดยมีโครงการหลัก 1 โครงการคือ โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ซึ่งประสบปัญหาการจราจรอย่างหนักเข้าขั้นวิกฤตทั้งในและนอกช่วงเวลาเร่งด่วน เนื่องจากต้องรับภาระด้านการจราจรทั้งหมดจากความต้องการเดินทางในแนวตะวันออก-ตะวันตก และแนวเหนือ-ใต้บนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในและชั้นกลาง เป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมขนส่งและรองรับรูปแบบการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

รายละเอียดโครงการ

โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) ออกแบบเป็นทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 ขนาด 4 ช่องจราจร (2 ช่องจราจรต่อทิศทาง) มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน โดยแนวสายทางมุ่งทิศใต้ ซ้อนทับอยู่บนทางพิเศษศรีรัช โดยช่วงบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วานถึงหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางประชาชื่นแนวสายทางจะอยู่คู่ขนานกับทางพิเศษศรีรัชทางด้านขวามือ และบริเวณช่วงย่านพหลโยธินถึงทางแยกต่างระดับพญาไท (แนวคลองประปา) แนวสายทางจะอยู่ทางด้านซ้ายของทางพิเศษศรีรัช และแนวสายทางจะมาทางทิศตะวันออก มีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณถนนพระราม 9 รวมระยะทาง 17 กิโลเมตร มีด่านเก็บค่าผ่านทาง จำนวน 2 ตำแหน่ง ได้แก่ ด่านเก็บค่าผ่านทางบริเวณประชาชื่น และด่านเก็บค่าผ่านทางบริเวณมักกะสัน มีทางขึ้น-ลง จำนวน 3 ตำแหน่ง ได้แก่ 1.ทางขึ้น-ลงจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน 2.ทางขึ้น-ลงบริเวณย่านพหลโยธิน และ 3.ทางขึ้น-ลงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณโรงพยาบาลพระราม 9 และตำแหน่งที่มีเฉพาะทางลง จำนวน 1 ตำแหน่ง ได้แก่ ทางลงบริเวณทางแยกต่างระดับมักกะสัน โดยไม่มีการเวนคืนที่ดินเอกชน

Contact Us
Contact Us