เพชรบุรี เมื่อเอ่ยถึงชื่อจังหวัดนี้ หลายคนคงจะนึกถึงหาดทรายชายทะเลแสนโรแมนติก ทว่าเพชรบุรียังมีอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือวิถีชุมชนริมแม่น้ำเพชรบุรีในเขตอำเภอเมือง ซึ่งมีการตั้งรกรากมายาวนานหลายร้อยปี จึงอวลด้วยเสน่ห์หลากแง่มุม ทั้งวิถีชีวิต อาหารการกิน รวมถึงศิลปะดั้งเดิม และ Modern Art ที่เข้ามาสร้างสีสันให้น่าเดินชมได้ไม่รู้เบื่อ
จริงๆ แล้วเพชรบุรีถือเป็นหัวเมืองสำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ริมแม่น้ำเพชรบุรีจึงมีชุมชนผุดขึ้นมากมาย และใช้แม่น้ำเป็นเส้นทางคมนาคม จนกระทั่งมีถนนตัดใหม่ ผู้คนเลิกใช้เรือหันไปใช้รถยนต์แทน ทว่าชุมชนริมลำน้ำเพชรก็ยังคงอยู่สืบสานวิถีจากอดีต โดย 3 ชุมชนน่าเที่ยว ซึ่งสามารถเดินทอดน่องต่อเนื่องกันก็คือ ชุมชนคลองกระแชง ชุมชนตลาดริมน้ำ และชุมชนวัดเกาะ เรียกรวมกันว่า “ชุมชนเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี”
ชุมชนคลองกระแชง
เริ่มเดินเที่ยวกันที่ “ชุมชนคลองกระแชง” ตั้งอยู่บนถนนขนานลำน้ำเพชรบุรีฝั่งตะวันตก ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ตั้งแต่จวนผู้ว่าฯ ไปถึงสะพานใหญ่หน้าวัดมหาธาตุ จุดเริ่มเดินอยู่ที่ “วัดพลับพลาชัย” วัดโบราณสมัยอยุธยาตอนปลาย วัดนี้เจริญรุ่งเรืองสุดขีดสมัยหลวงพ่อฤทธิ์ เพราะท่านก่อตั้งหนังใหญ่คณะวัดพลับพลาชัยอันโด่งดัง ทุกวันนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่เก็บรักษาไว้ให้ชม โดยมีทั้งหนังตัวครู ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ ฯลฯ แกะสลักบนหนังทาสีดำสูงกว่า 1.5 เมตร จัดแสดงไว้นับร้อยตัว นักท่องเที่ยวที่มีเวลาสามารถขอทำกิจกรรม DIY “ตอกหนัง” ตัวเล็กๆ ใส่กรอบเป็นที่ระลึก หรือถ้ามาเป็นหมู่คณะก็สามารถขอชม “ละครชาตรีคณะครูแอ๋ว” สืบสานนาฎลีลาพื้นบ้านมิให้สูญหาย
ออกจากวัดทางประตูหลัง เลี้ยวขวา เดินตามตรอกเล็กๆ เลียบแม่น้ำไปเรื่อยๆ จะผ่าน “ลานสุนทรภู่” ซึ่งเป็นจุดที่ท่านกวีเอกขึ้นฝั่งครั้งมาเยือนเมืองเพชรเมื่อปี พ.ศ. 2388 แล้วได้ประพันธ์นิราศเมืองเพชรอย่างไพเราะ แสดงให้เห็นถึงความงามของลำน้ำและวิถีชีวิตผู้คนสองฟากฝั่ง เดินต่อไปอีกนิดก็ถึง “บ้านมนัส จรรยงค์” ราชานักเขียนเรื่องสั้นเมืองไทย ผู้ถือกำเนิดขึ้นที่นี่ และได้ประพันธ์เรื่องสั้นไว้กว่า 1,000 เรื่อง ถัดมาเป็นบ้านของ “ป้าเล็ก เฉลิมศรี จรรยงค์” สาวขายนมเปรี้ยวยาคูลท์คนแรกของเพชรบุรี หากย้อนไปเมื่อ 30-40 ปีก่อน คนเมืองเพชรจะเห็นป้าเล็กปั่นจักรยานส่งยาคูลท์เป็นภาพชินตา จุดแวะถัดไป คือ “บ้านมิตร ชัยบัญชา” ที่มีคุณลุงสนั่นเจ้าของบ้าน รวบรวมโปสเตอร์หนัง ภาพถ่าย และหนังเก่าของมิตร ชัยบัญชา ไว้ด้วยความชื่นชอบเหมือนพิพิธภัณฑ์
เดินทะลุออกมาถึงถนนอีกด้านของชุมชนถ้าเลี้ยวขวาก็ถึงหน้า “วัดมหาธาตุ” วัดสำคัญที่มีพระปรางค์สีขาวองค์ใหญ่ 5 ยอด ทรงฝักข้าวโพดสวยเด่นเป็นสง่า ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองถึง 3 องค์ ได้แก่ หลวงพ่อวัดมหาธาตุ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม และหลวงพ่อวัดเขาตะเครา นอกจากนี้ยังมีศิลปะปูนปั้นสกุลช่างเมืองเพชรที่วิจิตรงดงามขั้นเอกอุ ทั้งตามซุ้มประตูหน้าต่างและหน้าบันโบสถ์วิหาร
ชุมชนตลาดริมน้ำ
เดินเที่ยวต่อเนื่องเข้าสู่ “ชุมชนตลาดริมน้ำ” โดยข้ามสะพานเหนือลำน้ำเพชรบุรี แล้วเลี้ยวซ้ายอีกทีก็ถึง บริเวณนี้เป็นย่านการค้าเก่าแก่ของชาวไทย-จีน มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4-5 ซอยเล็กๆ ขนาบด้วยบ้านเรือนเก่าสองฟากฝั่งที่ส่วนใหญ่เป็นตึกปูนสองชั้น พร้อมภาพ Street Art น่ารักๆ ในคอนเซ็ปต์คนรักแมว เกิดจากการที่มีคนมักนำแมวมาปล่อยทิ้งไว้ ศิลปินท้องถิ่นจึงนำแมวแต่ละตัวมาสร้างคาแร็กเตอร์ วาดภาพเก๋ไก๋ไว้ตามผนัง ประตู หน้าต่าง ให้เป็น Photo Point เดินมานิดเดียวก็เจอ “บ้านตั้งสวัสดิรัตน์” เป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชน เก็บรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้โบราณ และรูปภาพเก่า ใกล้ๆ กันคือ “ร้านขนมเปี๊ยะรพีพร” เจ้าเก่าขายมากว่า 50 ปี มีไส้ฟักไส้ถั่วตามแบบโบราณ ต่อด้วย “ก๋วยเตี๋ยวริมน้ำร้านเจ๊นิ” ขายมากว่า 60 ปี เด่นที่เส้นเกี้ยมอี๋และลูกชิ้นนานาชนิด ใกล้ๆ กันยังมี “ข้าวแช่แม่อร” ที่เสิร์ฟข้าวแช่เมืองเพชรสไตล์ชาววังในราคามิตรภาพ ข้าวแช่เมืองเพชรจะต่างจากข้าวแช่ที่อื่นตรงที่มีเครื่องเคียงเพียง 3 อย่าง คือ ลูกกะปิทอด เนื้อปลากระเบนผัดหวาน และหัวไชโป้เค็มผัดหวาน กินคู่กับข้าวขัดขาวแช่มาในน้ำดอกกระดังงาหอมกรุ่น อีกหนึ่งเมนูดังของซอยตลาดริมน้ำ คือ “ก๋วยเตี๋ยวน้ำแดง ร้านนายแดง” จุดเด่นอยู่ที่น้ำซุปหอมเครื่องเทศสี มีทั้งหมู-เนื้อธรรมดา และหมู-เนื้อตุ๋นรสเด็ด ความพิเศษอยู่ที่เวลากินต้องเติมซอสพริกเผ็ดเพิ่มความเข้มข้น
ชุมชนวัดเกาะ
จากซอยตลาดริมน้ำนั่งรถสองแถวไปลงที่ “ชุมชนวัดเกาะ” อยู่ตรงหัวถนนพานิชเจริญ ริมแม่น้ำเพชรบุรีฝั่งทิศตะวันออก เราจะได้สัมผัสชุมชนเก่าแก่กว่า 300 ปี ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เด่นด้วยเสน่ห์ผสมผสานวัฒนธรรมไทย-จีน โดยเฉพาะ “วัดเกาะ” หรือ “วัดเกาะแก้วสุทธาราม” เป็นวัดสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาที่ขรึมขลัง จุดเด่นอยู่ที่พระอุโบสถหลังเก่า มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่นเป็นภาพพุทธประวัติ พร้อมด้วยภาพจักรวาลตามคติโบราณ และภาพวิถีชีวิตคนเพชรบุรีเมื่อ 300 ปีก่อน ซึ่งมีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ โดยภาพวาดอยู่ในโครงเส้นสามเหลี่ยมซ้อนกันสองชั้น เรียงไปตลอดแนวกำแพง
เดินเที่ยวลดเลี้ยวตามหาของอร่อยจนเจอ “ขนมหวานบ้านครูปราณี” เป็นบ้านไม้สักทรงไทยอายุนับร้อยปี บรรพบุรุษของคุณครูมาจากเมืองจีนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ทุกวันนี้คุณครูปราณีมีชื่อเสียงในการทำขนมอาลัวและข้าวตู ซึ่งเป็นขนมหาชิมยาก ไม่ไกลจากบ้านครูปราณี เป็นบ้านเรือนไม้สองชั้นเลขที่ 368 ริมถนนพานิชเจริญ ของ “ป้าเนื่อง แฝงสีคำ” ศิลปินเครื่องทองสี่แผ่นดิน ผู้อนุรักษ์การทำเครื่องทองโบราณเมืองเพชรไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง จนได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประเภทประณีตศิลป์ พ.ศ. 2555 แม้ป้าเนื่องจะจากไปแล้ว ทว่าลูกหลานของท่านยังสืบต่อ ถือเป็นงานวิจิตรศิลป์ที่ใช้มือล้วนๆ เครื่องทองลายโดดเด่น เช่น สร้อยเกลียวสมอตัน-สมอโพรง ปะวะหล่ำ และต่างหูพวงเต่าร้าง ฯลฯ
เวลาแห่งความสุขริมแม่น้ำเพชรบุรีช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว พร้อมกับเข็มนาฬิกาและสายน้ำที่หลากไหลไปไม่หยุดนิ่ง เช่นเดียวกับจังหวะชีวิตผู้คนทั้ง 3 ชุมชน ที่ยังสืบสานสืบต่อยาวนานเช่นนี้ตลอดไป
Travel Guide
Getting There: จากกรุเทพฯ เดินทางผ่านจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี ระยะทางราว123 กม. เลี้ยวเข้าสู่ตัวเมืองเพชรบุรี จอดรถได้ที่วัดมหาธาตุและวัดพลับพลาชัย เดินข้ามถนนเข้าสู่ชุมชนคลองกระแชง ริมลำน้ำเพชรบุรีได้เลย
Overnight: แนะนำที่พักใกล้แม่น้ำเพชรบุรี เช่น Sida Hostel โทร. 08-9135-6432 White Monkey Guest House โทร. 0-3240-0187)
Local Cuisine: แกงหัวตาล ขนมจีนทอดมัน ข้าวแช่เมืองเพชร ฯลฯ
More info: ผู้นำชุมชน คุณปภังกร จรรยงค์ โทร. 06-2463-5464 และ คุณเจียรไน ทีสุกะ โทร. 09-9058-5500